วันพฤหัสบดีที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2553

วิธีการทางประวัติศาสตร์

ความหมายของประวัติศาสตร์
ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีตของสังคมมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แม้ว่าอดีตจะเป็นสิ่งที่ผ่านพ้นไปแล้ว แต่มนุษย์ในอดีตก็ได้ทิ้งร่องรอยและหลักฐานไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาเพื่อทำความเข้าใจว่าได้เกิดเหตุการณ์ใดขึ้นบ้างในอดีต สาเหตุที่เกิด รวมทั้งผลกระทบจากสิ่งที่เกิดขึ้นจนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน



ขั้นตอนวิธีการทางประวัติศาสตร์


ขั้นตอนที่ 1 การกำหนดเป้าหมาย
เป็นขั้นตอนแรก นักประวัติศาสตร์ต้องมีจุดประสงค์ชัดเจนว่าจะศึกษาอะไร อดีตส่วนไหน สมัยอะไร และเพราะเหตุใด เป็นการตั้งคำถามที่ต้องการศึกษา นักประวัติศาสตร์ต้องอาศัยการอ่าน การสังเกต และควรต้องมีความรู้กว้างๆ ทางประวัติศาสตร์ในเรื่องนั้นๆมาก่อนบ้าง ซึ่งคำถามหลักที่นักประวัติศาสตร์ควรคำนึงอยู่ตลอดเวลาก็คือทำไมและเกิดขึ้นอย่างไร


ขั้นตอนที่ 2 การรวบรวมข้อมูล

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ให้ข้อมูล มีทั้งหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร และหลักฐานที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร มีทั้งที่เป็นหลักฐานชั้นต้น(ปฐมภูมิ) และหลักฐานชั้นรอง(ทุติยภูมิ)
การรวบรวมข้อมูลนั้น หลักฐานชั้นต้นมีความสำคัญ และความน่าเชื่อถือมากกว่าหลักฐานชั้นรอง แต่หลักฐานชั้นรองอธิบายเรื่องราวให้เข้าใจได้ง่ายกว่าหลักฐานชั้นรอง
ในการรวบรวมข้อมูลประเภทต่างๆดังกล่าวข้างต้น ควรเริ่มต้นจากหลักฐานชั้นรองแล้วจึงศึกษาหลักฐานชั้นต้น ถ้าเป็นหลักฐานประเภทไม่เป็นลายลักษณ์อักษรก็ควรเริ่มต้นจากผลการศึกษาของนักวิชาการที่เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน ก่อนไปศึกษาจากของจริงหรือสถานที่จริง
การศึกษาประวัติศาสตร์ที่ดีควรใช้ข้อมูลหลายประเภท ขึ้นอยู่กับว่าผู้ศึกษาต้องการศึกษาเรื่องอะไร ดังนั้นการรวบรวมข้อมูลที่ดีจะต้องจดบันทึกรายละเอียดต่างๆ ทั้งข้อมูลและแหล่งข้อมูลให้สมบูรณ์และถูกต้อง เพื่อการอ้างอิงที่น่าเชื่อถือ

ขั้นตอนที่ 3 การประเมินคุณค่าของหลักฐาน

วิพากษ์วิธีทางประวัติศาสตร์ คือ การตรวจสอบหลักฐานและข้อมูลในหลักฐานเหล่านั้นว่า มีความน่าเชื่อถือหรือไม่ ประกอบด้วยการวิพากษ์หลักฐานและวิพากษ์ข้อมูลโดยขั้นตอนทั้งสองจะกระทำควบคู่กันไป เนื่องจากการตรวจสอบหลักฐานต้องพิจารณาจากเนื้อหา หรือข้อมูลภายในหลักฐานนั้น และในการวิพากษ์ข้อมูลก็ต้องอาศัยรูปลักษณะของหลักฐานภายนอกประกอบด้วยการวิพากษ์หลักฐานหรือวิพากษ์ภายนอก
การวิพากษ์หลักฐาน (external criticism) คือ การพิจารณาตรวจสอบหลักฐานที่ได้คัดเลือกไว้แต่ละชิ้นว่ามีความน่าเชื่อถือเพียงใด แต่เป็นเพียงการประเมินตัวหลักฐาน มิได้มุ่งที่ข้อมูลในหลักฐาน ดังนั้นขั้นตอนนี้เป็นการสกัดหลักฐานที่ไม่น่าเชื่อถือออกไปการวิพากษ์ข้อมูลหรือวิพากษ์ภายใน
การวิพากษ์ข้อมูล (internal criticism) คือ การพิจารณาเนื้อหาหรือความหมายที่แสดงออกในหลักฐาน เพื่อประเมินว่าน่าเชื่อถือเพียงใด โดยเน้นถึงความถูกต้อง คุณค่า ตลอดจนความหมายที่แท้จริง ซึ่งนับว่ามีความสำคัญต่อการประเมินหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร เพราะข้อมูลในเอกสารมีทั้งที่คลาดเคลื่อน และมีอคติของผู้บันทึกแฝงอยู่ หากนักประวัติศาสตร์ละเลยการวิพากษ์ข้อมูลผลที่ออกมาอาจจะผิดพลาดจากความเป็นจริง


ขั้นตอนที่ 4 การตีความหลักฐาน
การตีความหลักฐาน หมายถึง การพิจารณาข้อมูลในหลักฐานว่าผู้สร้างหลักฐานมีเจตนาที่แท้จริงอย่างไร โดยดูจากลีลาการเขียนของผู้บันทึกและรูปร่างลักษณะโดยทั่วไปของประดิษฐกรรมต่างๆเพื่อให้ได้ความหมายที่แท้จริงซึ่ง
อาจแอบแฟงโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม
ในการตีความหลักฐาน นักประวัติศาสตร์จึงต้องพยายามจับความหมายจากสำนวนโวหาร ทัศนคติ ความเชื่อ ฯลฯ ของผู้เขียนและสังคมในยุคสมัยนั้นประกอบด้วย เพื่อทีจะได้ทราบว่าถ้อยความนั้นนอกจากจะหมายความตามตัวอักษรแล้ว ยังมีความหมายที่แท้จริงอะไรแฝงอยู่

ขั้นตอนที่ 5 การสังเคราะห์และการวิเคราะห์ข้อมูล
จัดเป็นขั้นตอนสุดท้ายของวิธีการทางประวัติศาสตร์ ซึ่งผู้ศึกษาค้นคว้าจะต้องเรียบเรียงเรื่อง หรือนำเสนอข้อมูลในลักษณะที่เป็นการตอบหรืออธิบายความอยากรู้ ข้อสงสัยตลอดจนความรู้ใหม่ ความคิดใหม่ที่ได้จากการศึกษาค้นคว้านั้น
ในขั้นตอนนี้ ผู้ศึกษาจะต้องนำข้อมูลที่ผ่านการตีความมาวิเคราะห์ หรือแยกแยะเพื่อจัดแยกประเภทของเรื่อง โดยเรื่องเดียวกันควรจัดไว้ด้วยกัน รวมทั้งเรื่องที่เกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กัน เรื่องที่เป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน จากนั้นจึงนำเรื่องทั้งหมดมาสังเคราะห์หรือรวมเข้าด้วยกัน คือ เป็นการจำลองภาพบุคคลหรือเหตุการณ์ในอดีตขึ้นมาใหม่ เพื่อให้เห็นความสัมพันธ์และความต่อเนื่อง โดยอธิบายถึงสาเหตุต่างๆ ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และผล ทั้งนี้ผู้ศึกษาอาจนำเสนอเป็นเหตุการณ์พื้นฐาน หรือเป็นเหตุการณ์เชิงวิเคราะห์ก็ได้ ขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายของการศึกษา


ความสำคัญของประวัติศาสตร์
1. ประวัติศาสตร์เป็นตัวเชื่อมโยงกาลเวลาต่าง ๆ ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคตเข้าด้วยกัน โดยใช้บทเรียนในอดีตมาเป็นประสบการณ์ทำความเข้าใจในปัญหาและปฏิบัติตนอย่างเหมาะสมในปัจจุบัน พร้อมทั้งทิศทางสู่อนาคตด้วยความมั่นใจ
2. ประวัติศาสตร์สอนให้มนุษย์รู้จักตนเองและสังคมมากขึ้น การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ทำให้รู้ปัจจัยเบื้องหลังพฤติกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ รู้จุดอ่อน จุดแข็ง ของตนเองและผู้อื่น ทำให้รอบรู้และเข้าใจเรื่องราวต่าง ๆ ได้ง่ายและรวดเร็ว เกิดความได้เปรียบในการเจรจาติดต่อดังเช่น ตำราพิชัยสงครามซุนหวู่ของจีน กล่าวว่า “รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง” ซึ่งในปัจจุบันยุทธศาสตร์นี้ได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้ทั้งในเชิงธุรกิจ การทูต และการเมือง
3. การเรียนรู้อดีตช่วยให้เข้าใจปัญหาต่างๆ ในสังคมปัจจุบันได้ชัดเจนขึ้น เพราะฉะนั้น คนที่มีความรู้ทางประวัติศาสตร์ของสังคมหนึ่ง ก็ย่อมจะสามารถจัดการกับปัญหาในสังคมนั้นได้ดีกว่าคนที่มีไม่เคยรับรู้ประสบการณ์จากอดีตเลย
4. ประวัติศาสตร์สอนให้คิดอย่างมีเหตุผลบนพื้นฐานของข้อเท็จจริงโดยปราศจากอคติ การฝึกฝนให้รู้จักชั่งน้ำหนักความน่าเชื่อถือของหลักฐานข้อมูล เป็นการสร้างความสุขุมรอบคอบ ความมีวิจารณญาณและความเที่ยงธรรม


ลำดับความสำคัญของหลักฐานทางประวัติศาสตร์
การตรวจสอบและประเมินหลักฐานทางประวัติศาสตร์ จำเป็นต้องหาวิธีการที่เป็นแนวทางในการปฏิบัติจึงมีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของหลักฐานออกเป็น 2 อันดับ คือ
1. หลักฐานชั้นต้น (Primary Sources) คือหลักร่วมสมัยที่บันทึกไว้โดยผู้เกี่ยวข้องโดยตรงหรือเป็นผู้รู้เห็นเหตุการณ์ด้วยตัวเอง
2. หลักฐานชั้นรอง (Secondary Sources) คือหลักฐานที่บันทึกขึ้นภายหลังเหตุการณ์โดยการฟังคำบอกเล่าของบุคคลอื่น หรือค้นคว้าจากหลักฐานชั้นต้นเพิ่มเติม
การแบ่งหลักฐานออกเป็นชั้นต้นและชั้นรองก็เพื่อประโยชน์ในการประเมินความน่าเชื่อถือ
ของหลักฐาน เพราะหลักฐานที่บันทึกโดยผู้อยู่ในเหตุการณ์ รู้เห็นข้องเท็จจริงมาด้วยตนเอง ย่อมน่าเชื่อถือกว่าการรับรู้จากผู้อื่น เรื่องราวที่บันทึกขึ้นในสมัยเดียวกันก็ย่อมจะน่าเชื่อถือกว่าเรื่องที่บันทึกหลักเหตุการณ์นับร้อยปีอย่างไรก็ตามยังไม่ควรจะด่วนเชื่อเช่นนั้นทันทีเพราะหลักฐานชั้นต้นก็อาจจะให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนได้เช่นกันผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์อาจจะบันทึกผิดพลาดจากความเป็นจริงได้ เพราะความไม่เข้าใจสถานการณ์ที่แท้จริงหรืออาจจงใจปกปิดบิดเบือนความจริงเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนหรือพรรคพวก หรืออาจมีจุดประสงค์จะสรรเสริญผู้เป็นนาย ปัดความผิดให้ผู้อื่น ในทางตรงกันข้าม หลักฐานชั้นรองที่บันทึกภายหลังโดยบุคคลนอกเหตุการณ์ อาจจะเสนอเรื่องราวด้วยความเป็นกลางและให้ความจริงที่ถูกต้องน่าเชื่อถือกว่าก็ได้


ประเภทของหลักฐานทางประวัติศาสตร์
หลักฐานทางประวัติศาสตร์ของไทยแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
1. หลักฐานที่เป็นลายลักษณ์ หมายถึง หลักฐานที่เป็นตัวหนังสือ มนุษย์ในแต่ละสังคมได้ทิ้งหลักฐานที่เป็นตัวหนังสือประเภทต่างๆ ไว้มากมาย บนแผ่นศิลา โลหะ ใบลาน กระดาษ หรือผ้าไหม หลักฐานลายลักษณ์ของไทย เช่น จารึก ตำนาน พงศาวดาร จดหมายเหตุ บันทึกความทรงจำ หนังสือพิมพ์ วารสาร กฎหมาย จดหมาย เอกสารราชการ งานวรรณกรรม เละงานนิพนธ์ทางประวัติศาสตร์










2. หลักฐานที่ไม่เป็นลายลักษณ์ หมายถึง หลักฐานที่ไม่ได้บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร แต่เป็นผลงานที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นและหลงเหลือตกทอดมาตามกาลเวลา หลักฐานประเภทนี้มีทั้งหลักฐานสมัยก่อนประวัติศาสตร์และหลักฐานสมัยประวัติศาสตร์ ได้แก่
หลักฐานทางโบราณคดี ได้แก่ โบราณสถาน เช่น พระราชวัง วัด เจดีย์ กำแพงเมือง คูเมือง และ โบราณวัตถุ เช่น พระพุทธรูป เครื่องปั้นดินเผา เครื่องประดับหินหรือเปลือกหอย เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น